บทความลง นสพ.ฉบับที่4

พบกันอีกครั้งแล้วนะครับ ขอบคุณท่านผู้อ่านที่รักสุขภาพบางท่านที่โทรมาถามรายละเอียดข้อมูลเรื่องโรคเอดส์เพิ่มเติม ก็ไม่ได้บอกเบอร์ไว้หรอกครับ แต่ก็หาได้ไม่ยากเพราะเป็นเบอร์หน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพอยู่แล้ว วันนี้ขอพักเรื่องราวเกี่ยวกับเอดส์โดยตรงไว้ก่อนนะครับ เปลี่ยนบรรยากาศมาเรียนรู้เกี่ยวกับวัณโรคบ้าง ซึ่งก็เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์อย่างยิ่งเพราะเป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดเนื่องจากติดเชื้อเอชไอวีและทำให้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก


ก่อนอื่น คงไม่สายเกินไปที่คอลัมภ์นี้จะขอถือโอกาสต้อนรับ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีคนใหม่ นายแพทย์อภิชาติ รอดสม คนหนุ่มไฟแรง และติดดินทำงานภายใต้สโลแกน คนสำราญ งานสำเร็จ นับเป็นความโชคดีของคนเมืองกาญจน์ เพราะท่านเป็นผู้ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง ผลงานที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์และได้รับรางวัลดีเด่นมากมาย ขอต้อนรับด้วยความยินดีครับ

สำหรับเรื่องวัณโรค บางท่านอาจจะมองข้าม แต่บางครอบครัวก็ได้รับผลกระทบมากมาย เป็นโรคที่รักษาแต่กว่าจะหายก็ใช้เวลา ถึง ๖ – ๘ เดือน ถ้ากินยาไม่ต่อเนื่องเชื้อจะกลายเป็นเชื้อดื้อยา ต้องรักษาไม่น้อยกว่า 18 เดือน และก็ไม่ค่อยหายด้วย ประเทศไทย พบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละประมาณ แปดหมื่นคน เป็นเชื้อดื้อยาประมาณร้อยละแปด สำหรับกาญจนบุรี พบผู้ป่วยปีละ 1,000 – 1,200 คน แต่ถ้ามีการค้นหาอย่างจริงจังร้อยเปอร์เซ็นคาดว่าจะพบผู้ป่วยมากกว่านี้ประมาณสองเท่า และพบผู้ป่วยเชื้อดื้อยาทุกอำเภอ แต่พบมากที่ อำเภอท่ามะกา เมือง และท่าม่วง ปีนี้พบทั้งสิ้น 30 รายแล้ว วัณโรครักษาเร็วหรือรักษาตั้งแต่เป็นใหม่ ๆ จะเสียค่ารักษาไม่ถึงครึ่งหมื่น แต่ถ้าเป็นเชื้อดื้อยาต้องใช้เงินถึงสองแสนบาทต่อคนและก็ไม่รับประกันว่าจะหายขาดทุกราย จึงถือเป็นหลักว่า วัณโรครู้เร็ว ไม่ขาดยา รักษาหาย

วัณโรค Tuberculosis) (หรือ ทีบี (TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ มัยโคแบคทีเรีย ทูเบอร์คูโลซิส มีรูปร่างเป็นแท่งมีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ขยายจึงจะเห็นตัวเชื้อวัณโรค วัณโรค สามารถเป็นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ปอด ลำไส้ ไต กระดูก ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลือง และเยื่อหุ้มสมอง แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหามากในปัจจุบัน คือ วัณโรคปอด วัณโรคติดต่อโดยการแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ทางระบบหายใจ โดยผู้ป่วยที่มีเชื้อในเสมหะ พูด คุย ไอ จาม โดยไม่ปิดปาก เชื้อวัณโรคจะลอยไปกับละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอ จาม ออกมา ผู้ที่สูดหายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีโอกาสติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคได้ ผู้ที่ได้รับเชื้อแล้ว ไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นวัณโรคทุกคน เพราะว่าร่างกายมีกลไกหลายอย่างที่จะต่อสู่และป้องกันเชื้อวัณโรค มีเพียงร้อยละ 10 ของผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคเท่านั้นที่จะป่วยเป็นวัณโรค เชื้อวัณโรคจากเสมหะที่ปลิวในอากาศ โดยไม่ถูกแสงแดดจะมีชีวิตได้นาน 8 – 10 วัน แสงอาทิตย์จะทำลายเชื้อวัณโรคได้ภายใน 5 นาที และจะถูกทำลายได้ในน้ำเดือด 2 นาที การทำลายเชื้อจากเสมหะที่ดีที่สุดจึงใช้ความร้อน เช่น การเผาทิ้ง

ผู้ป่วยวัณโรคจะมีอาการหลายชนิด ที่สำคัญคือ ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ อาการอื่น ๆ ที่อาจพบ ได้แก่ ไอแห้ง ๆ หรือไอมีเสมหะ หรือ ไอมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ มีไข้ต่ำ ๆ ตอนบ่ายหรือค่ำ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย การตรวจเสมหะด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นวิธีที่สามารถบอกได้แน่นอนว่าผู้ป่วยเป็นวัณโรคปอด เพราะสามารถมองเห็นเชื้อวัณโรคปอดในเสมหะได้ การตรวจเสมหะเพื่อหาเชื้อวัณโรค ควรตรวจ 3 ครั้ง การเอกซเรย์ปอด อย่างเดียวไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าป่วยเป็นโรควัณโรคปอด ต้องได้รับการตรวจเสมหะร่วมด้วย ในรายที่สงสัยว่าเป็นวัณโรคแต่ตรวจเสมหะไม่พบเชื้อ ต้องทำการเพาะเชื้อวัณโรคด้วย ทุกท่านควรไปตรวจหาเชื้อวัณโรค เมื่อมีอาการ ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเลือดปน มีไข้ต่ำ ๆ ตอนบ่าย หรือค่ำ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เหงื่อออกตอนกลางคืน เมื่ออยู่ใกล้ชิดหรืออยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยวัณโรคปอด ผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี (เอดส์) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ผู้ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน กลุ่มเสี่ยงพิเศษอื่น ๆ เช่น ผู้ติดสารเสพติด ผู้ต้องขัง แรงงานต่างด้าว แรงงานย้ายถิ่น ควรปฏิบัติตัวอย่างไรขณะป่วยและรักษา กินยาทุกชนิดตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง จนกว่าแพทย์สั่งหยุดยา เมื่อกินยาประมาณ 2 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้นห้ามหยุดยา เพราะจะทำให้เชื้อ วัณโรคดื้อยา รักษาหายยาก ใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ หรือ จาม เพื่อป้องกันมิให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น บ้วนเสมหะลงในภาชนะหรือกระป๋องที่มีฝาปิดแล้วฝังดิน นำไปเผา หรือเทลงส้วมแล้วเทน้ำลาดให้สะอาด จัดสถานที่พักอาศัยให้สะอาดถ่ายเทสะดวก แสงแดดส่องถึง และหมั่นนำเครื่องนอกออกตากแดด ควรนำผู้สัมผัสโรคร่วมบ้านหรือใกล้ชิดผู้ป่วย โดยเฉพาะเด็กไปรับการตรวจร่างกายที่สถานบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง

ด้วยความปรารถนาดี จาก นายวิจารณ์ นามสุวรรณ

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี